The Sports Gene





พูดง่าย ๆ คือ พรสวรรค์ที่ติดตัวมาแต่เกิด กับ พรแสวงที่เกิดจากการฝึกซ้อม อะไรทำให้คนเก่งจนกลายเป็นมนุษย์ต่างดาวได้

สำหรับการหาคำตอบแค่นี้ นี่ต้องลงทุนซื้อหนังสือเล่มหนา ราคา 450 บาท มาอ่านเลยเหรอวะ (ถามตัวเอง)

ใครที่อยากอ่านละเอียดจริง ๆ ก็ไปซื้อมาเถิด 450 บาทเอ้งงง แต่ถ้าไม่คิดจะจ่ายขนาดนั้น อ่านด้านล่างนี้ก็พอ สรุปแบบบ้าน ๆ อ่านฆ่าเวลาได้แบบนี้

*********

ถ้ามีใครให้คุณดูรูปการแข่งวอลเลย์บอล แล้วตอบว่ามีลูกวอลเลย์บอลอยู่ในภาพหรือไม่ โดยภาพปรากฎขขึ้นแวบเดียวเพียง 16 มิลลิวินาที คุณสามารถตอบได้หรือไม่

ไม่ได้โว้ย (ตอบเอง)

ใช่ นักวอลเล่ย์บอลที่เพิ่งหัดเล่นก็ตอบไม่ได้ แต่นักวอลเล่ย์บอลที่เก่ง ๆ ตอบได้ถูกต้อง แถมยังลงรายละเอียดได้อีกด้วยว่าถ่ายที่ไหน เมื่อไหร่ ใครแข่ง (อารมณ์แบบแข่งแฟนพันธ์แท้ไหม)

ข้อแตกต่างระหว่างนักกีฬาที่ช่ำชองกับมือใหม่นั่นอยู่ที่การ "อ่านเกม" มากกว่าการตอบสมองอย่างรวดเร็ว นั่นหมายถึง ฐานข้อมูลในหัวสร้างมาจากการฝึกซ้อมอย่างหนักเท่านั้น

นักเทนนิสชั้นนำจึงสามารถคาดเดาได้ว่าอีกฝ่ายจะเสิร์ฟลูกแบบไหน จากการขยับร่างกายท่อนบนเพียงเสี้ยววินาที ผู้ตีมือฉมังในกีฬาเบสบอลจึงสามารถอ่านเกมว่าผู้ขว้างจะขว้างแบบไหนด้วยการขยับข้อมือด้านใน หรือดูจากอะไรต่อมิอะไรที่เกิดจากฐานข้อมูลในหัวทั้งสิ้น

ดังนั้น ผู้ตีในเบสบอล เมื่อเจอกับมือขว้างผู้หญิงในกีฬาซอฟต์บอล แม้ความเร็วจะน้อยกว่ามาก แม้ผู้หญิงจะมีกล้ามเนื้อน้อยกว่ามาก แต่ผู้ตีที่ว่าเก่งนักเก่งหนาหลายต่อหลายคนกลับตีไม่โดนลูกเลย เพราะฐานข้อมูลเบสบอลที่มีอยู่ในหัวเอามาใช้ไม่ได้กับซอฟต์บอล

ฟังแบบนี้ก็แสดงว่า การฝึกซ้อมสำคัญเยี่ยงนี้แล

*********

แต่มันก็มีเรื่องราวของสองนักกระโดดสูง คนหนึ่งชื่อ โฮล์ม หัดกระโดดมาตั้งแต่สี่ขวบ ซ้อมเป็นบ้าเป็นหลังจนได้เหรียญโอลิมปิก ปี 2005 เขากระโดดผ่านที่ 240 เซนติเมตรได้ โฮล์มเป็นคนที่เชื่อในเรื่องกฎ 10,000 ชั่วโมง

หลายคนคงเคยได้ยินเรื่อง กฎ 10,000 ชั่วโมง ที่ว่าคนเราจะเก่งด้านใดด้านหนึ่งได้ต้องอาศัยการฝึกซ้อมราว 10,000 ชั่วโมง คำนี้โด่งดังมาจากหนังสือสัมฤทธิ์พิศวงของ มัลคอล์ม แกลดแวลล์ ทั้งที่ อีริกส์สัน นักวิจัยหลักของเรื่องนี้ ก็ไม่เคยเรียกสิ่งนี้ว่า "กฎ" แต่ก็มีหลายคนที่เรียกมันว่ากฎ อาจจะรวมถึงโฮล์มด้วย

ต่อมาปี 2007 โฮล์มผู้เชื่อมั่นในกฎ 10,000 ชั่วโมง ลงแข่งเวิลด์แชมเปียนชิปส์ที่โอซาก้า และแพ้ให้กับ ทอมัส ที่เพิ่งหัดกระโดดสูงได้ 8 เดือน !

คือ 8 เดือนก่อนลงแข่ง ทอมัสผู้ซึ่งไม่ได้เป็นนักกีฬากระโดดสูงอะไรเลย ไปโม้กับเพื่อนที่โรงอาหารในมหาวิทยาลัยว่าตัวเองสแลมดังก์เก่งนะโว้ย ทำไปทำมา เพื่อนที่เป็นนักกีฬากระโดดสูงชักรำคาญ เลยพนันว่าเอ็งกระโดดไม่ผ่านความสูง 198 เซนติเมตรหรอก

อีตาทอมัสก็รับพนัน วิ่งไปหยิบรองเท้ากลับมากระโดดที่โรงยิมมหาวิทยาลัย วัดความสูงเรียบร้อย ผลปรากฎว่า ทอมัสกระโดดผ่านหน้าตาเฉย (ลองนึกถึงความสูงของตัวคุณดู ว่าตัวเองสูงเท่าไหร่แล้วนึกภาพตามว่าทอมัสกระโดดข้ามหัวคุณได้แบบเหลือ ๆ)

เท่านั้นไม่พอ เพื่อนเพิ่มความสูงเป็น 203 เซนติเมตร อิตานี่ก็ยังกระโดดได้ สุดท้ายมาที่ 213 เซนติเมตร (บ้าไปแล้วสองเมตรกว่า!) ถึงท่ากระโดดจะไม่มีเทคนิค แต่อิตาทอมัสก็กระโดดผ่านเฉ้ย เพื่อนเห็นแบบนี้เลยชักนำทอมัสเข้าวงการกระโดดสูง ซ้อมแบบเบื่อ ๆ กับโค้ชอยู่แปดเดือน จนได้ลงแข่งระดับโลกและเอาชนะโฮมส์ที่ฝึกมาทั้งชีวิตได้อย่างที่เล่าไป

แล้วความพยายามทั้งหมดที่ผ่านมาของโฮมส์มันคืออัลไล!

จากการตรวจร่างกายของศูนย์วิจัยกล้ามเนื้อสมองที่มหาวิทยาลัยในฟินแลนด์ พบว่า ขาของทอมัสยาวมากเมื่อเทียบกับความสูง และมีเอ็นร้อยหวายที่ใหญ่และยาวเป็นพิเศษ ทำให้เขาพุ่งขึ้นไปกลางอากาศได้ดี

พรแสวงของโฮมส์แพ้ให้กับสรีระโดยกำเนิดของทอมัสแบบนั้น

*********

ตัวอย่างของสรีระหรือพันธุกรรมโดยกำเนิดยังมีให้เห็นอีก เช่นชาวคาเลนจินในเคนยา วิ่งระยะไกลเก่งมาก เทียบให้เห็นภาพคือ ในประวัติศาสตร์มีคนอเมริกันวิ่งมาราธอนโดยใช้เวลาน้อยกว่า 2 ชั่วโมง 10 นาทีเพียง 17 คน แต่ชายคาเลนจินทำได้แบบนั้น 32 คนในเดือนตุลาคมปี 2011

ทำไมชาวเคนยาถึงวิ่งมาราธอนได้โดดเด่นแบบนี้? ชาวเคนยานะ ไม่ใช่ชาวไซย่า

จากการวิจัยของศูนย์วิจัยกล้ามเนื้อแห่งมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนพบว่าเด็กชาวคาเลนจินในเคนยามีช่วงขาที่ยาวกว่าเมื่อเทียบกับความสูง คือเด็กคาเลนจินเตี๊ยกว่าเด็กเดนมาร์ก 5 เซนติเมตร แต่ขายาวกว่า 2 เซนติเมตร

และเด็กคาเลนจินยังมีปริมาตรและความหนาโดยเฉลี่ยของขาช่วงล่างน้อยกว่าเด็กเดนมาร์ก 15 -17% นั่นหมายถึงพวกเขามีอัตราสิ้นเปลืองแรงวิ่งที่น้อยกว่า (และให้เข้าใจด้วยว่านักวิ่งชาวเคนยายังมีขาเล็กกว่าเด็กชาวเคนยาที่ไม่ได้ฝึกซ้อมเสียอีก)

*********

ในเล่มยังมีงานวิจัยอีกมากที่ชี้ให้เห็นถึงพันธุกรรมที่ส่งผลต่อความเก่งกาจด้านกีฬาที่เหนือกว่าคนอื่น จนถ้าเราเป็นนักกีฬาคงรู้สึกกลัวที่จะซ้อมขึ้นมา เพราะถึงซ้อมไปก็เสียเปรียบยอดมนุษย์ที่เกิดมาเพื่อสิ่งนั้นอยู่ดี...ว่าแล้วก็นอนดูซีรีส์อยู่บ้านดีกว่า จะไปซ้อมทำไม ซ้อมไปก็สู้มนุษย์ต่างดาวไม่ได้

ถ้าอ่านแล้วคิดแบบนี้ก็ดูจะคิดลบไปหน่อย ดังนั้นก็หาวิธีคิดบวกกันเอาเองเถิด

ขอจบด้วยข้อความตอนหนึ่งในเล่มแบบนี้

"ไม่ว่าคนคนหนึ่งจะมีความสามารถพิเศษแบบไหน รูปทรงร่างกายอย่างไร สภาพแวดล้อมตอนเด็กเป็นแบบไหน หรือมาจากประเทศอะไร การวิ่งมาราธอนจบภายใน 2:05 ชั่วโมง ก็ไม่ได้ตกลงมาจากท้องฟ้า พรสวรรค์ของพวกเขาต้องบวกกับความตั้งใจจริงอย่างแรงกล้าด้วย"

#TheSportsGene #ยอดมนุษย์นักกีฬา #มหัศจรรย์พันธุกรรมหรือสัจธรรมการซ้อม #สำนักพิมพ์SALT #เดวิดเอปสตีน #ธัญญารัตน์ดอกสน



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Lunch with the FT